เมล็ดพันธุ์

ประเภทของเมล็ดพันธุ์ผัก

ประเภทเมล็ดพันธุ์

ประเภทของเมล็ดพันธุ์ผักแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

พันธุ์ผสมเปิด หรือที่เรียกว่า โอ.พี. (O.P.) ที่ย่อมาจากคำว่า Open pollinated variety ความหมายของมันก็คือ เป็นเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ ที่มีพันธุ์กรรมคงที่ ไม่มีการแปรปรวนทางพันธุกรรมเกิดขึ้น หากมีการนำเมล็ดที่ได้จากการเพาะปลูกในรุ่นถัดๆ กันไปทำการเพาะปลูกขยายพันธุ์ ก็จะได้ต้นที่มีลักษณะที่เหมือนต้นเดิมทุกประการ ทั้งรูปทรง โครงสร้าง และผลผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ผักคะน้า เมล็ดพันธุ์กวางตุ้ง เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีน ถ้าเป็นผักให้ลูกจะมีผลผลิตต่อต้นที่น้อย

ส่วนเมล็ดพันธุ์ F1-hybrid variety คือพันธุ์ที่เป็นลูกช่วงแรกที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ที่มีพื้นฐานทางพันธุ์กรรมแตกต่างกัน เมล็ดพันธุ์ลูกผสม จะให้ผลผลิตที่มากกว่า ต้านทานโรค และแมลง ผลที่ได้ออกมาจะมีผลที่มีคุณภาพสูงกว่าพันเปิด เมล็กพันธุ์ลูกผสมไม่สามารถเก็บไปใช้ปลูกซ้ำได้ เนื่องจากอาจมีการกลายพันธุ์หรือสายพันธุ์ถดถอยได้ เมล็ดพันธุ์ลูกผสมเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม เช่น แตงกวา แตงร้าน ฝักทอง แตงโม พริก ฯลฯ

ความแตกต่างระหว่างพันธุ์ผสมเปิด และพันธุ์ลูกผสม

  • ราคาเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ผสมเปิด ต่ำ พันธุ์ลูกผสม สูง
  • ความสม่ำเสมอของพันธุ์ พันธุ์ผสมเปิด ต่ำ พันธุ์ลูกผสม สูง
  • ผลผลิตต่อต้น พันธุ์ผสมเปิด ต่ำ พันธุ์ลูกผสม สูง-สูงมาก
  • ความทนทานต่อสภาพแวดล้อม พันธุ์ผสมเปิด ต่ำ พันธุ์ลูกผสม สูง

ประเภทของเมล็ด

1. เมล็ดแบบไม่เคลือบ (Raw seed)

เมล็ดประเภทนี้จะผ่านการลดความชื้น และทำความสะอาดมาแล้ว ในบางครั้งเมล็ดแบบนี้จะมีการคลุกสารเพื่อช่วยให้มีความต้านทานต่อเชื้อโรคในระยะแรกของการงอกเป็นต้นกล้า ถ้าเลือกใช้เมล็ดแบบนี้ก็ควรถามผู้ขายว่ามีการคลุกสารป้องกันเชื้อโรคมาให้ด้วยหรือไม่ ถ้ามี หลังจากที่เราเพาะเมล็ดเสร็จแล้วก็ควรล้างมือให้สะอาด เมล็ดประเภทนี้อายุเก็บรักษาจะนานกว่าเมล็ดแบบเคลือบ แต่เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

2. เมล็ดแบบเคลือบ

มี 2 ลักษณะ คือ เมล็ดเคลือบแป้ง เราเรียก Pelleted seed เก็บได้นาน 1-3 ปี ส่วนมากจะเป็นพวกเมล็ดไม้ดอก และเมล็ดแบบเคลือบ จะเรียกว่า Primed seed ซึ่งเมล็ดจะถูกกระตุ้นให้เกิดการงอกก่อน แล้วจึงนำมาทำการเคลือบแป้ง (Pelleted seed) อีกที ซึ่งจากการที่กระตุ้นให้เมล็ดงอกก่อน ทำให้เมล็ดพันธุ์แบบนี้มีอายุการเก็บรักษาสั้น ซึ่งถ้าเลือกซื้อมาใช้ควรใช้ให้หมดโดยเร็ว ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป สำหรับข้อดีของการใช้เมล็ดแบบเคลือบก็คือ สะดวกในการเพาะอัตราการงอกสม่ำเสมอ และ % ความงอกสูง แต่ราคาก็จะสูงกว่าเมล็ดแบบไม่เคลือบ

การเลือกเมล็ดพันธุ์ผัก

ลักษณะของเมล็ดพันธุ์ที่ดี
  1. สะอาดปราศจากสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง กรวด ทราย เศษผัก หรือเมล็ดพืชอื่น
  2. ตรงตามพันธุ์ เป็นเมล็ดที่ไม่กลายพันธุ์ เช่นตระกูลของมันมีผลสีเขียวอมชมพู เมื่อนำมาปลูกผลก็เป็นสีเขียวอมชมพู ตรงตามพันธุ์เดิม
  3. ไม่มีโรคและแมลง เมล็ดพันธุ์บางชนิดอาจมีโรคหรือแมลงติดมากับเมล็ด เมื่อนำไปเพาะเชื้อโรคในเมล็ดอาจจะแพร่ไปได้ เมล็ดพันธุ์ที่ดีควรเป็น เมล็ดพันธุ์ที่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค และแมลงมาแล้ว
  4. มาจากตระกูลที่ดี หมายถึงเมล็ดพันธุ์ที่มาจากตระกูลที่มีผลดกดี มีขนาดและรูปร่างดี มีสี มีน้ำหนัก และรสดี
  5. มีความสามารถในการงอกสูง หมายถึงเมล็ดที่มีความสามารถใน การงอกเจริญเติบโต มีอาหารที่จะเลี้ยงลำต้นจนเจริญเติบโตได้
  6. ทนทานต่อโรค และแมลง

การทดสอบความงอกของเมล็ดผัก

ในการปลูกพืชผักมีปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรประสบอยู่เสมอ ๆ นั่นคือ ปัญหาคุณภาพความงอกของเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรไม่มีโอกาสแน่ใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์ พืชผักที่ซื้อหามาปลูกในแต่ละครั้งนั้นจะงอกได้มากน้อยเพียงใด หากเมล็ดพืชผักที่ปลูกลงไปแล้วมีปริมาณการงอกต่ำ หรือมีเมล็ดพันธุ์อื่นปะปนอยู่มาก เกษตรกรก็จะได้ผลผลิตต่ำไม่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงไปในแต่ละครั้ง รวมทั้งเสียเวลาของฤดูปลูกในแต่ละครั้งไปอย่างน่าเสียดาย หรือบางทีเกษตรอาจจะต้องลงทุนเพิ่มเมล็ดพันธุ์พืชชนิดอื่นเพื่อปลูกแซมลงไปให้เต็มพื้นที่ที่เตรียมเอาไว้แล้ว

ดังนั้น ก่อนการปลูกพืชผักแต่ละครั้ง เกษตรกรควรจะให้ความสำคัญในการทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์พืชผักด้วยวิธีง่ายๆ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณความงอกของเมล็ดพันธุนั้นๆ และหากได้ทดสอบเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อมาปลูกได้ก็จะทำให้มีการตัดสินใจเลือกซื้อได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงซื้อเมล็ดพันธุ์ไม่ดี ไม่ต้องเสี่ยงลงทุนลงแรง และเสียเวลาไปโดยได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า

มีวิธีทดลองที่ทำได้เองแบบง่ายๆ อยู่ 3 วิธีคือ
  1. เอาเมล็ดพันธุผักใส่ภาชนะ จะเป็นแก้วน้ำ ขันน้ำ หรือจานก็ได้ แล้วใส่นํ้าลงไป เมล็ดที่เสียจะลอยนํ้า ส่วนเมล็ดที่ดีจะจมนํ้า หากสังเกตเห็นว่ามีเมล็ดที่ลอยน้ำมากแสดงว่ามีเมล็ดเสียมากไม่ควรซื้อมาปลูก
  2. ใช้กระดาษฟางหรือกระดาษซับตัดให้พอดีกับจาน วางไว้ก้นจาน ใส่นํ้าพอชุ่มนับเมล็ดใส่ลงไป 100 เมล็ด แล้วเอากระดาษฟางหรือกระดาษซับปิดไว้อีกที เทนํ้าใส่ให้ชุ่มภายในเวลา 1 -3 วัน เมล็ดจะงอก นับเมล็ดที่งอกดู ถ้าเมล็ดงอก 70-80 % ก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ถ้าเมล็ดงอก 90 % ขึ้นไปใช้ได้ดี แต่ถ้าต่ำกว่า 60 % ลงมาไม่ควรจะซื้อหามาปลูก
  3. เอาทรายใส่ในจานสังกะสีให้เต็มก้นจานนับเมล็ดผักใส่ลงไป 100 เมล็ด หยอดน้ำพอให้ชุ่ม เอาจานอีกใบครอบไว้ หยอดน้ำให้ชุ่มทุกวัน ภายใน 3 วัน เมล็ดจะงอกนับดูเหมือนวิธีที่ 2
ข้อควรระวัง
  1. ควรรดนํ้าให้ชุ่มอยู่เสมอ และต้องวางไว้ในที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทได้ดี เมล็ดที่ทดลองความงอกควรจะเป็นตัวแทนของเมล็ดทั้งหมด ไม่ควรเลือกเมล็ดเอา มาทดลอง เพราะจะทำให้ได้ผลการทดลองไม่ตรงตามความเป็นจริง
  2. เมล็ดที่ทดลองความงอกได้ดี แต่เมื่อนำไปปลูกในแปลงปลูกจริงแล้ว เมล็ดกลับไม่ค่อยงอกนั้นอาจจะเป็นเพราะสภาพดินไม่เหมาะสม ในดินที่มีความเป็น กรด-ด่างมากเกินไป ดินขาดธาตุอาหารและความชุ่มชื้นไม่เพียงพอ เกษตรกรจะต้องพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *